ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเส้นเสียงของเครื่องบินขึ้นลงสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเสียงของเครื่องบิน โดยผู้แทน EEC รับปากจะนำเรื่องเข้าสู้คณะกรรมการเพื่อทบทวนแก้ไขการทำ EHIA ที่ไม่เป็นธรรม

 

เมื่อวันที่ 13 มี.ค.67 ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอบ้านฉาง จ.ระยอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้เปิดให้มีการประชุมชี้แจงความเป็นมา ขอบเขตพื้นที่โครงการ แนวทางและขั้นตอนการสำรวจ โครงการสำรวจ จัดทำบัญชีค่าชดเชยและเจรจาค่าชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบเส้นเสียงโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ครั้งที่ 1 โดยมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมประชุมรับฟังการชี้แจง มีนายกำธร เวหน รอง ผวจ.ระยอง เป็นประธานเปิดการประชุม และนายกิติพงศ์ อุระวัตร นอภ.บ้านฉาง เข้าร่วม

ต่อมามีกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเสียงเครื่องบินขึ้นลง พร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีดำ นำโดยนายชวลิต ร่มรื่น กำนัน ต.สำนักท้อน และนายประเสริฐ แสงใหญ่ ตัวแทนชาวบ้าน เดินทางมายังห้องประชุมฯ ยื่นหนังสือกับนายกำธร เวหน รอง ผวจ.ระยอง นายกิติพงศ์ อุระวัตร นอภ.บ้านฉาง และ ดร.ธาริศร์ อิสระยั่งยืน รองเลขาธิการ EEC ขอคัดค้านการทำ EHIA รวมถึงการทำแผนที่เส้นเสียง เรียกร้องขอให้มีการทบทวนโครงการศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหาด้านเสียงดัง จากเครื่องบินขึ้นลง คัดค้านการขีดเส้นสีแดง ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก 480 หลังคาเรือน เหลือ 93 หลังคาเรือน

นายชวลิต กล่าวว่า วันนี้เรามาติดตามความคืบหน้าจาก EEC ว่าคิดเห็นอย่างไรกับข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเสียงของสนามบินอู่ตะเภา การยกเลิก EHIA แนวเส้นเสียงที่ไม่เป็นธรรม เราขอให้มีการพิสูจน์และจัดทำแผนที่เส้นเสียงใหม่โดยประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งก็ได้ยืนหนังสือให้กับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ผ่านทางท่านรองผู้วาฯ ท่านนายอำเภอ และรองเลขา EEC เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัดระยองได้บรรจุเรื่องนี้เป็นวาระของจังหวัดแล้ว ส่วนทาง EEC ก็ส่งสัญญาณที่ดีว่าพร้อมจะร่วมกับชาวบ้านพิสูจน์เส้นเสียงใหม่

ด้านดร.ธาริศร์ อิสระยั่งยืน รองเลขาธิการ EEC กล่าวว่า แนวทางแก้ไขปัญหาของเส้นเสียงดังกล่าว EEC รับปากว่าประชาชนจะได้ความเป็นธรรมแน่นอน ซึ่งเส้นเสียงที่มีปัญหานั้น ก็จะมีการปรับเผื่อไว้ให้จากเดิมที่ชาวบ้านคิดว่าได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของชาวบ้านไว้ก่อนที่ศาลจะมีคำตัดสิน จะมีการปรับเส้นเสียงโดยรอบขอบออกไประยะห่างประมาณ 100 ม.ก่อนที่จะมีการประเมินให้พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่เสี่ยงสูงต่อไป ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ที่ประเมินก็จะมีการส่งไปให้คณะกรรมการปรับปรุงระบบ ซึ่งผลการพิจารณาเป็นอย่างไร ทาง EEC ก็จะรับ และเสนอของบประมาณไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบต่อไป

เดชา สุวรรณสาร ภาพ-ข่าว