ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35 สรุปผลเรือใบเล็ก “อินเตอร์เนชันแนล ดิงกี้ คลาส” เด็กไทยคว้าแชมป์ 3 รุ่น

ทั้งออปติมิสต์ ไอแอลซีเอ 4 และแฮนดี้แคป
เรือใบใหญ่แข่งขันวันที่ 2 ทีมเรือ Pine Pacific โชว์ท็อปฟอร์มต่อเนื่องรั้งหัวตารางสำเร็จ
5 ธันวาคม 2566 – การแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35 ประจำปี 2566 สรุปผลการแข่งขันเรือใบเล็ก “อินเตอร์เนชันแนล ดิงกี้ คลาส” หลังแข่งขันจบ 3 วันตั้งแต่ 3-5 ธันวาคม รวมทั้งหมด 10 เที่ยว ผลปรากฏเด็กไทยทำผลงานยอดเยี่ยมตามคาด คว้าแชมป์ถึง 3 รุ่น ทั้งออปติมิสต์ (ภัชราพรรณ องคลอย) ไอแอลซีเอ 4 (นัณวธรณ์ ศุภอัมพลวิชญ์) และโมโนฮัลล์ ดิงกี้ แฮนดี้แคป (คลาวเดีย นาซารอฟ) นอกจากนี้ Top 3 ของทั้ง 3 รุ่นยังเป็นนักกีฬาเยาวชนไทยทั้งหมด สร้างความมั่นใจคลื่นลูกใหม่เรือใบไทยมีอนาคตสดใสบนเวทีโลก

สำหรับการแข่งขันเรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ้ตและมัลติฮัลล์ จัดการแข่งขันต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยสนามในวันนี้เป็นคอร์สระยะไกล ทำให้มีเฉพาะรุ่นไออาร์ซี 0, ไออาร์ซี 1 และมัลติฮัลล์เรซิ่ง เท่านั้นที่ทำการแข่งขันได้ 2 รอบ ส่วนรุ่นอื่น ๆ แข่งขันเพียงรอบเดียวในวันนี้

ภาพรวมผลงานทีมเรือไทยในวันนี้ แชมป์เก่าชาวไทยในรุ่นพรีเมียร์ กัปตันอิทธินัย ยิ่งศิริ เจ้าของเรือ Pine Pacific ยังทำผลงานล้ำหน้าคู่แข่งอย่างเรือ Shahtoosh ของกัปตันปีเตอร์ เครเมอร์ส ไปกว่า 8 นาที (Corrected Time) แม้สนามแข่งขันในวันนี้เป็นคอร์สระยะไกลที่เสียเปรียบเรือคู่แข่ง แต่ด้วยทีมลูกเรือที่แข่งขันด้วยกันมานานกว่า 10 ปี ทำให้คุมเกมได้ไม่ยาก และเฉือนเอาชนะไปได้แบบขาดลอย

ส่วนรุ่นอื่น ๆ ทีมเรือ Vayu THA 72 ของกัปตันเควิน วิทคราฟต์ รุ่นไออาร์ซี 0 เกิดการชำรุดที่อุปกรณ์รอกเชือกเรือจำเป็นต้องซ่อมแซมในช่วงก่อนแข่งและไม่สามารถลงแข่งขันได้ในวันนี้ ส่วนเรือ Piccolo ของกัปตันไมค์ ดอว์นาร์ด ในรุ่นแบร์โบ้ตชาร์เตอร์ ยังคงรั้งเพียงอันดับ 2 ของวัน พลาดท่าให้กับเรือ Dragonborn ของกัปตันทิฟฟานี คู และ ดีน เพ็ง จากจีน

ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าประจำปี 2566 มีทีมเรือใบเดินทางมาร่วมการแข่งขันรวม 14 ชาติ ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย สหรัฐฯ เยอรมนี เบลเยียม เอสโตเนีย ฝรั่งเศส ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น จีน สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ โดยมีการแข่งขัน 7 รุ่น ได้แก่ ไออาร์ซี 0, พรีเมียร์, ไออาร์ซี 1, แบร์โบ้ตชาร์เตอร์, โมโนฮัลล์ครูซิ่ง, มัลติฮัลล์เรซิ่ง และมัลติฮัลล์ครูซิ่ง กำหนดจัดแข่งขันตั้งแต่วันที่ 4-9 ธันวาคม โดยในปีนี้มีทีมเรือไทยร่วมชิงชัย 3 รุ่น คือไออาร์ซี 0, พรีเมียร์ และแบร์โบ้ต ชาร์เตอร์

ผลการแข่งขันวันที่ 2 รายการเรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ้ตและมัลติฮัลล์ ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35
รุ่นไออาร์ซี 0 – ทีมเรือ Callisto โดยกัปตันเจมส์ และ เคต เมอร์เรย์ จากสหรัฐฯ
รุ่นพรีเมียร์ – ทีมเรือ Pine Pacific โดยกัปตันอิทธินัย ยิ่งศิริ จากไทย
รุ่นไออาร์ซี 1 – ทีมเรือ Witchcraft โดยกัปตันนิก เบิร์นส์ จากฮ่องกง
รุ่นแบร์โบ้ตชาร์เตอร์ – ทีมเรือ Dragonborn โดยกัปตันทิฟฟานี คู และ ดีน เพ็ง จากจีน
รุ่นโมโนฮัลล์ครูซิ่ง – ทีมเรือ Enavigo โดยกัปตันสตีฟ เมน จากสหราชอาณาจักร
รุ่นมัลติฮัลล์เรซิ่ง – ทีมเรือ Kata Rock Parabellum โดยกัปตันแดน ฟิด็อค จากออสเตรเลีย
รุ่นมัลติฮัลล์ครูซิ่ง – ทีมเรือ Trident โดยกัปตันแอนดริว แม็คเดอร์มอตต์ จากสหราชอาณาจักร

นาวาตรี นาวี เนื่องจำนงค์ นายสนามการแข่งขันเรือใบเล็ก อินเตอร์เนชันแนล ดิงกี้ คลาส กล่าวสรุปภาพรวมการแข่งขันเรือใบเล็กในวันสุดท้ายว่า “สภาพลมวันสุดท้ายถือว่าดีมาก ลมแรงเกิน 10 นอตตลอดวัน โดยเราจัดการแข่งครบ 2 เที่ยวได้อย่างราบรื่น ส่วนนักกีฬาเยาวชนไทยก็ทำผลงานได้น่าพอใจมาก โดยคว้าแชมป์ได้ถึง 3 รุ่นจากทั้งหมด 4 รุ่น และในแต่ละรุ่นที่คว้าแชมป์ได้ 3 อันดับแรกก็เป็นเด็กไทยทั้งหมด ถือเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจมาก ส่วนรุ่นโอเพ่นสกิฟฟ์ที่เราพลาดไป ถือเป็นรุ่นเรือที่ทางอินเดียส่งเข้าร่วมแข่งขัน และไม่ใช่รุ่นหลักของทีมไทย ถึงกระนั้น เด็กไทยก็ยังสามารถคว้าอันดับ 2 ได้ในรุ่นนี้ เชื่อว่านักกีฬารุ่นนี้จะเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะสร้างผลงานให้คนไทยภูมิใจในสนามแข่งระดับโลกต่อไปอย่างแน่นอน”

ผลการแข่งขันคะแนนรวม “อินเตอร์เนชันแนล ดิงกี้ คลาส” คิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35
รุ่นออปติมิสต์รวม – ภัชราพรรณ องคลอย จากไทย
รุ่นออปติมิสต์หญิง – ภัชราพรรณ องคลอย จากไทย
รุ่นออปติมิสต์ชาย – คริษฐ์ พราหมณี จากไทย
ไอแอลซีเอ 4 – นัณวธรณ์ ศุภอัมพลวิชญ์ จากไทย
โอเพ่นสกิฟฟ์ – อานันดิ ชานดาวาร์การ์ (Anandi Chandavarkar) จากอินเดีย
โมโนฮัลล์ ดิงกี้ แฮนดี้แคป – คลาวเดีย นาซารอฟ จากไทย

ผู้สนับสนุนการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35 ได้แก่ กะตะ กรุ๊ป รีสอร์ท ในฐานะผู้สนับสนุนหลัก, คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล, อาร์เอ็มเอ กรุ๊ป, ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี, บมจ. หาดทิพย์, ริโก้, บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ไพน์ แปซิฟิค จำกัด และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)