จิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ประธานคณะอนุ กมธ.การเงิน การคลัง วอนให้ประชาชนแจ้งผลกระทบการเก็บภาษี พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เตรียมปรับปรุง/แก้ไข หรือยกเลิก เพราะไม่เป็นธรรมกับผู้เสียภาษี

 

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ประธานคณะอนุ กมธ.การเงิน การคลัง ในคณะ กมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน และคณะ แถลงข่าวประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิก พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 แถลงข่าวว่า ด้วยคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นมานั้น ยังคงมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ และทำให้เกิดประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการจัดเก็บรายได้ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และมีประชาชนร้องเรียนเป็นจำนวนมาก คณะกรรมาธิการจึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลังพิจารณาศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม ปรับปรุง หรือยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เพื่อให้กฎหมายสามารถบังคับใช้ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล และรายงานผลการพิจารณาศึกษาให้คณะกรรมาธิการรับทราบและดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ จากการพิจารณาศึกษาในเบื้องต้นคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลังพบประเด็นปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว สรุปได้ดังนี้ 1. การจัดเก็บภาษีไม่สอดคล้องกับหลักการจัดเก็บภาษีที่ดี ที่จะต้องสามารถเข้าใจ และปฏิบัติได้โดยง่าย ทั้งผู้ที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีและผู้เสียภาษี และมีต้นทุนการจัดเก็บภาษีที่ต่ำ แต่การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีต้นทุนในการดำเนินการสูง ใช้เวลามาก จึงไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติ

2. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาษีที่มีความชับซ้อน และมีปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหา และความชัดเจนของกฎหมาย รวมถึงการใช้ดุลยพินิจในการจัดเก็บภาษีในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน

3. การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่สามารถลดปัญหาควาเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างแท้จริง พิจารณาได้จากรายได้จากการจัดเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในปี พ.ศ. 2565 จัดเก็บได้จำนวน 35,791.17 ล้านบาท น้อยกว่ารายได้การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 จัดเก็บได้จำนวน 36,528.05 ล้านบาท ในขณะที่จำนวนประชาชนที่เสียภาษีกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยพิจารณาได้จากจำนวนผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี พ.ศ. 2563 มีจำนวนผู้เสียภาษี 7,174,738 ราย เปรียบเทียบกับในปี พ.ศ. 2565 มีจำนวน
ผู้เสียภาษี 16,008,158 ราย

4. ประเด็นปัญหาการประเมินภาษีย้อนหลัง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ. 2562 ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ดำเนินการจัดเก็บภาษีที่คงค้างอยู่ หรือที่ยังจัดเก็บไม่ได้เท่านั้น มิได้ให้ดำเนินการประเมินภาษีแต่อย่างใด ประกอบกับ
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 และภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว

5. การบรรเทาการชำระภาษีไม่ครบถ้วนและเป็นธรรม เช่น การร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากในเรื่องการไม่ได้รับการบรรเทาการชำระภาษีตามมาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 โดยเท่าเทียมกัน

6. อัตราภาษีไม่เป็นธรรม โดยมีการกำหนดอัตราภาษีจากการใช้ประโยชน์จากพื้นที่
– เกษตรกรรม อัตราภาษีร้อยละ 0.01-0.10
– อยู่อาศัย อัตราภาษีร้อยละ 0.02-0.10
– อื่น ๆ อัตราภาษีร้อยละ 0.30-0.70
– ทิ้งไว้ว่างเปล่าฯ อัตราภาษีร้อยละ 0.30-0.70 (เก็บเพิ่ม 0.30 ทุก 3 ปี)
การกำหนดอัตราภาษีดังกล่าวข้างต้น ไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และการจัดเก็บภาษีส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ และการซื้อขายที่ดิน เพื่อพัฒนาและนำไปใช้ประโยชน์ในทางพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และด้านอื่น ๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายในการกระตุ้น
ให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยมีการหลบเลี่ยงการเสียภาษี โดยนำที่ดินไปใช้ทำประโยชน์ด้านเกษตรกรรม เพื่อเสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง

7. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะมีปัญหาในเรื่องระยะเวลาการดำเนินการไม่สอดคล้องกับความจริง กล่าวคือ การประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะต้องประเมินจากลักษณะการใช้ประโยชน์จากที่ดินตามจริง แต่ในข้อเท็จจริงที่ปฏิบัติ คือ การจัดเก็บภาษีจะพิจารณาข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคมของปี ดังนั้น ข้อมูลที่มีการสำรวจ จึงเกิดขึ้นก่อนปีที่มีการจัดเก็บภาษี จึงเป็นเหตุให้เป็นประเด็นว่าแจ้งประเมินภาษีไปแล้ว แต่ข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน

8. การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและ
สถานการณ์ในปัจจุบัน ที่มีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แม้ว่าจะไม่มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจ แต่ผู้ประกอบการและประชาชนจะต้องชำระภาษี จึงเสมือนเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ประชาชน

9. การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะดำเนินการสำรวจพื้นที่ตามที่กฎหมายกำหนดว่า “อาจสำรวจพื้นที่ ” ประกอบกับหนังสือซักซ้อมทำความเข้าใจในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยกระทรวงมหาดไทยได้ให้ข้อแนะนำว่าควรทำการสำรวจพื้นที่ทุก 4 ปี ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีไม่มีความถูกต้อง ครบถ้วน และสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่แท้จริง หากจะใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะต้องมีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจการใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นประจำทุกปี

10. หน่วยงานจัดเก็บภาษีขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านกฎหมาย เช่น การยึด อายัด ขายทอดตลาดโดยตรง เป็นต้น ด้านการคำนวณภาษี และด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ และจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอต่อการลงพื้นที่ เพื่อสำรวจการใช้ประโยชน์ในที่ดิน

11. การกำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษี เพื่อนำเงินมาชำระภาษีค้างชำระ รวมทั้งการกำหนดเบี้ยปรับ จากการที่มิได้ชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนดในอัตราสูงนั้น ไม่มีความเหมาะสมและไม่สอดคล้องกับการกระทำความผิด

12. พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ตราขึ้นโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยใช้เวลาจำกัด จึงขาดความครบถ้วนสมบูรณ์และไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเท่าใดนัก

ดังนั้น จึงควรมีการพิจารณาแก้ไข/ปรับปรุง หรือยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการจัดเก็บรายได้ให้แก่หน่วยงานภาครัฐต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจหรือได้รับผลกระทบ หรือความไม่เป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว สามารถเสนอความเห็น และประเด็นปัญหามายังคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน และคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลัง ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อไป

ภาพ/ข่าว น.ส.นภชนก เหมือนนามอญ บก.ชลนิวส์ทีวีออนไลน์ สัมภาษณ์ บริบูรณ์ บก.”ข่าวทั่วไทย”รายงาน 087-614-2444.