ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เฝ้ารับเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัว และพระบรมราชีนี
#วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2567 เวลา 15.40 น. ณ สนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เฝ้ารับ – ส่งเสด็จ ฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ในการนี้มี นายสมบูรณ์ จิตรพัฒนากุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 พลโท ชิษณุพงศ์ รอดศิริ แม่ทัพภาคที่ 1 พลตำรวจโท สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 พลเรือตรี อนันท์ สุราวรรณ์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ นางสาวฐิติลักษณ์ คำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นางนิภาพร แพภิรมย์รัตน์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี พร้อมข้าราชการ และประชาชน เฝ้า ฯ รับ – ส่งเสด็จฯ
โดย กองทัพเรือ ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงกลาโหม ให้จัดสร้างเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบก เพื่อมาประจำการในกองทัพ ทดแทน ยุทโธปกรณ์ที่ปลดประจำการลง ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการพัฒนากำลังรบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ เพื่อรองรับบทบาทและหน้าที่ของกองทัพเรือในด้านการป้องกันประเทศ การรักษาผลประโยชน์และเส้นทางคมนาคมของชาติทางทะเล โดยการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ ตลอดจนการช่วยเหลือประชาชนในการบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามว่า “เรือหลวงช้าง” ตามชื่อของหมู่เกาะช้างในจังหวัดตราด
สำหรับ เรือหลวงช้าง เป็นเรือหลวงลำที่ 3 ของราชนาวีไทย ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาแบบมาจากเรือ LPD Type 071 เป็นเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ โดยกองทัพเรือ มอบหมายให้ บริษัท China Shipbuilding Trading (CSSC) ต่อขึ้น ณ อู่ต่อเรือหูตงจงหัว นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ใช้เวลาในการต่อเรือ 4 ปี แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 โดยเดินทางถึงประเทศไทยและเข้าประจำการเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 ทั้งนี้ เรือหลวงช้าง มีความยาวตลอดลำ 210 เมตร ความกว้าง 28 เมตร กินน้ำลึก 7 เมตร ระวางขับน้ำ 2 หมื่น 5 พันตัน มีขีดความสามารถ ในการควบคุมบังคับบัญชา การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก สามารถลำเลียงกำลังรบยุทโธปกรณ์ และยกพลขึ้นบกได้ จำนวน 650 นาย อีกทั้งสามารถปฏิบัติงาน ร่วมกับอากาศยานของกองทัพเรือได้ทุกประเภท นอกจากนี้ มีภารกิจในการสนับสนุนการปฏิบัติการของเรือดำน้ำ อาทิ การช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย การอพยพประชาชน การสนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ ปัจจุบันมี นาวาเอก ธีรสาร คงมั่น เป็นผู้บังคับการเรือหลวงช้าง มีกำลังพลประจำเรือ 196 นาย แบ่งเป็น นายทหารสัญญาบัตร 26 นายทหารประทวน 135 นาย และพลทหาร 35
ข่าวภาพ/ # ณพล (สัมภาษณ์) บริบูรณ์ รายงาน”ณภชนก เหมือนามอญ รายงาน