ประธานคณะอนุ กมธ.การเงิน การคลัง ในคณะ กมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน และคณะ แถลงข่าวประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิก พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ประธานคณะอนุ กมธ.การเงิน การคลัง ในคณะ กมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน และคณะ แถลงข่าวประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิก พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จึงควรมีการพิจารณาแก้ไขและปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม
โดยที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 เป็นต้นมา แต่ยังคงมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ และทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการจัดเก็บรายได้ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร มีประชาชนร้องเรียนเป็นจำนวนมาก คณะ กมธ. จึงมอบหมายให้คณะอนุ กมธ.การเงิน การคลัง พิจารณาศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมปรับปรุงหรือยกเลิก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล และรายงานการพิจารณาศึกษาให้คณะ กมธ. ทราบและดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ จากการพิจารณาศึกษาในเบื้องต้น คณะอนุ กมธ.การเงิน การคลังพบประเด็นปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว อาทิ การจัดเก็บภาษีไม่สอดคล้องกับหลักการจัดเก็บภาษีที่ดี ที่จะสามารถเข้าใจและปฏิบัติได้โดยง่าย ทั้งผู้ที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษี และผู้เสียภาษี และมีต้นทุนการจัดเก็บภาษีที่ต่ำ แต่การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีต้นทุนในการดำเนินการสูงใช้เวลามาก จึงไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติ การกำหนดอัตราภาษีไม่เป็นธรรม โดยมีการกำหนดอัตราภาษีจากการใช้ประโยชน์จากพื้นที่แตกต่างกัน ไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และการจัดเก็บภาษีส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์และการซื้อขายที่ดิน เพื่อพัฒนาและนำไปใช้ประโยชน์ในทางพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และด้านอื่นๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายในการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยมีการหลบเลี่ยงการเสียภาษีโดยนำที่ดินไปใช้ทำประโยชน์ด้านเกษตรกรรม เพื่อเสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง รวมถึงการจัดเก็บภาษีไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่มีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ผู้ประกอบการและประชาชนไม่มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจ แต่จะต้องชำระภาษี จึงเสมือนเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ประชาชน
ดังนั้น จึงควรมีการพิจารณาแก้ไขและปรับปรุง หรือยกเลิก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการจัดเก็บรายได้ให้แก่หน่วยงานภาครัฐต่อไป สำหรับประชาชนที่สนใจ หรือได้รับผลกระทบ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว สามารถเสนอความเห็นและประเด็นปัญหามายังคณะ กมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน และคณะอนุ กมธ.การเงิน การคลัง ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อไป
ภาพ/ข่าว น.ส.นภชนก เหมือนนามอญ บก.ชลนิวส์ทีวีออนไลน์ สัมภาษณ์ บริบูรณ์ บก.”ข่าวทั่วไทย”รายงาน 087-614-2444.