กมธ.วิสามัญ “บุหรี่ไฟฟ้า” แถลงใหญ่เตรียมชง 3 ทางเลือกแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า

(13 มิ.ย.2567 รัฐสภา) นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย แถลงว่าคณะกรรมาธิการ 35 คนมาจากหลากหลายองค์กร ส่วนราชการ ภาคสังคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้ามาให้ความคิดเห็น ซึ่ง กมธ. ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิและศึกษาผลกระทบต่างๆ ไม่ว่าด้านสุขภาพ ด้านสังคม ด้านเด็กและเยาวชน ด้านเศรษฐกิจและการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนคำนึงสภาพความเป็นจริงของประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมไทยตลอดมา ลั่นทำเพื่อประเทศชาติ ไม่มีใบสั่ง ไม่อยู่ภายใต้การกดดันของใคร ชี้ศึกษาดูงานจีน “แหล่งผลิต” ภายในสิ้นเดือนนี้ ย้ำชัดการปกป้องเด็กและเยาวชนต้องมาก่อน
นายนิยม กล่าวว่า วันนี้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ใช้กันแพร่หลาย กมธ.จะต้องหามาตรการด้านกฎหมาย การควบคุมที่เหมาะสอดคล้องกับสถานการณ์ และสภาพความเป็นจริง และบริบทของประเทศไทยเราด้วย ดังนั้นคณะ กมธ. ได้ตั้งคณะอนุ กมธ.2 คณะ คือคณะอนุ กมธ. พิจารณามาตรการด้านกฎหมาย และคณะอนุ กมธ.จัดทำรายงาน
สำหรับแนวทางการพิจารณาของกมธ. มีความเป็นอิสระตามบริบทของประเทศไทย ดังนั้น เมื่อกรรมาธิการฯมีข้อสรุปแล้วเสร็จจึงจะนำเสนอต่อสภาฯ เพื่อให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลตัดสินใจเลือกแนวทาง สำหรับการเดินทางไปศึกษาดูงานของคณะกมธ.จะเดินทางไปศึกษาดูงานในประเทศจีนระหว่างวันที่ 26-29 มิ.ย.เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านกฎหมาย เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อปรับแนวทางของกฎหมายให้สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน
ด้าน นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ สส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย เลขานุการฯ และในฐานะประธานคณะอนุ กมธ. พิจารณามาตรการด้านกฎหมายเพื่อควบคุมกํากับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย กล่าวว่า คณะทำงานเข้าใจในบริบทของสุขภาพและการป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน แต่ปัจจุบันกฎหมายยังมีช่องโหว่การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งคณะอนุฯได้ศึกษาแนวทางและได้เสนอต่อ กมธ.ชุดใหญ่ใน 3 แนวทางคือ
(1) กำหนดให้การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง โดยแบ่งเป็น 2 ทางเลือกคือ (1.1) แก้กฎหมายปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นประกาศกระทรวงพาณิชย์ คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้มีความชัดเจนและครอบคลุมถึงการครอบครองและผลิต เพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง และ (1.2) แก้กฎหมายใหม่ในระดับพระราชบัญญัติ เพื่อกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายแบบเบ็ดเสร็จ โดยรวมหลักการ มาตรการทุกมิติไว้ในกฎหมาย การห้ามผลิต ห้ามนำเข้า การจำหน่าย ห้ามครอบครอง ห้ามโฆษณาการสื่อสาร ต่างๆ รวมถึงห้ามการสูบด้วย
(2) กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน คือ Heated Tobacco Product หรือ Heat Not Burn Tobacco เป็นสิ่งที่ถูกควบคุมตามกฎหมาย โดยแก้ไขกฎหมายให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนเป็นสิ่งที่ถูกควบคุมตามกฎหมาย แก้ประกาศกระทรวงพาณิชย์ แก้คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงต้องบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อควบคุมยาสูบแบบให้ความร้อน ให้เป็นยาสูบตาม พ.ร.บ.สรรพสามิต เก็บภาษีได้ เข้าไปดูในมิติของการควบคุม การเข้าถึง การโฆษณา การสื่อสาร ภายใต้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น
(3) กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้า E-cigarettes และผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน Heated Tobacco Product ทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่ถูกควบคุมตามกฎหมาย โดยแก้กฎหมาย แต่จะคุมอย่างเข้มงวด ซึ่งทั้ง 3 แนวทางจะนำเสนอ กมธ.ชุดใหญ่ในเร็ววันนี้
นพ.ภูมินทร์ กล่าวเสริม คณะอนุกมธ.มีข้อสังเกตเพื่อพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย คือ เพิ่มนิยามคำว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” “น้ำยา” “อุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า” ตลอดจนผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น “บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อน” หรือ Heated Tobacco Product ให้มีความชัดเจน เพื่อให้บังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีมีประสิทธิภาพ มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย และที่สำคัญที่สุดคือการเพิ่มความเข้มข้นของทุกมาตรการเพื่อป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน
สำหรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ กมธ.บินไปดูงานบุหรี่ฟ้าที่ประเทศจีน นายนิยม กล่าวว่า การเดินทางไปประเทศจีนก็ไม่มีผลกระทบใดๆ ในการตัดสินใจของกมธ.เป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นการศึกษาดูงานในประเทศที่มีขนาดใหญ่ การไปดูงานไม่ได้เป็นการไปโน้มน้าวจิตใจ เพราะทุกคนไม่ได้มีผลประโยชน์ มีอิสระในการที่จะคิดและทำเพื่อส่วนรวม
ท้ายสุดจะส่งให้ กมธ.วิสามัญ ทั้ง 35 คน จากโควต้าทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ให้ลงมติว่าจะยึดแนวทางไหน คงจะมีการฟังเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย ซึ่งทุกความเห็นของ กมธ.ก็จะบันทึกหมดให้กับสภาฯ เพื่อพิจารณาต่อไป

#####